02 สถาปนิก — เมื่อความรู้ในการออกแบบบ้าน สร้างได้มากกว่าบ้าน

สถาปนิก

—   เมื่อความรู้ในการออกแบบบ้าน  สร้างได้มากกว่าบ้าน —

 

หากมีใครพูดถึงอาชีพสถาปนิกว่า คือการทำงานรับใช้คนรวย  แปลว่าคนๆนั้นยังไม่รู้จักแง่มุมต่างๆของอาชีพนี้ดีพอ

จริงอยู่ , ลูกค้าส่วนใหญ่ของคนในอาชีพนี้คือคนมีสตางค์   มิเช่นนั้นเขาจะเอาเงินที่ไหนมาสร้างบ้านสวยๆล่ะ

แต่สถาปนิกที่จะพูดถึงถัดจากบรรทัดนี้

ลืมภาพออฟฟิศติดแอร์กับแปลนบ้านหรูหราราคาหลังละหลายสิบล้านไปได้เลย

เพราะสิ่งที่สถาปนิกกลุ่มนี้กำลังทำ   ไม่ใช่การออกแบบบ้านสวยๆเอาใจคนรวย   แต่คือนำความรู้มาช่วยคนจน โดยการออกแบบสลัม

ใช่ , จุดประสงค์คือเพื่อช่วยให้คนในสลัมได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

ในขณะที่คนรวยๆบางคนอยู่บ้านราคาหลักล้านในพื้นที่หลายไร่  , คนจนๆอีกหลายคนกลับต้องทนอยู่อย่างแออัดในพื้นที่อันคับแคบในชุมชนใต้เชิงสะพาน หรือชุมชนข้างทางรถไฟ   สถาปนิกคนหนึ่งที่ทำงานกับชุมชนในสลัมเล่าให้ฟังว่า บางครอบครัวมีสมาชิก6คน ในบ้านขนาด 2×2 เมตร โดยทั้งหมดต้องผลัดเวรกันนอน  บางบ้านน้ำประปาเข้าไม่ถึง  บางชุมชนรถดับเพลิงเข้าไม่ได้   บางที่ก็มีปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ

แน่นอนว่าหากสภาพภายนอกยังทำให้ดีไม่ได้   สภาพภายในจิตใจหรือคุณภาพชีวิตก็เป็นอันไม่ต้องพูดถึง

จากปัญหาที่ว่านี้  จึงได้ก่อกำเนิดสถาปนิกในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า

“สถาปนิกชุมชน” ขึ้นมา เพื่อทำงานให้กับชุมชนที่ขาดแคลนโอกาส

และหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่ม CASE นำทีมโดย “คุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์” สถาปนิกดีกรีปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บรู๊กส์ ประเทศอังกฤษ

แน่นอนว่าด้วยดีกรีขนาดนี้  มันไม่ใช่เรื่องยากถ้าหากว่าเธอจะเลือกเส้นทางที่นำไปสู่ความร่ำรวยอย่างสถาปนิกทั่วไป   แต่เธอกลับเลือกเส้นทางที่เหนื่อยกว่าและลำบากกว่า  ด้วยเหตุผลที่ว่ามันมีบางสิ่งที่สำคัญกว่าเงิน

“เราคิดแค่ว่า สิ่งสำคัญที่สุดมันไม่ใช่เงินทอง   แต่คือความสุขที่ได้สร้างบ้านสวยๆให้พวกเขา   เราอยากทำงานสถาปนิกที่รับใช้ได้ทุกคน  ไม่ใช่แค่คนรวย    ไม่ว่าคนเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยว  แม่ค้าส้มตำ  ชาวบ้าน หรือคนในสลัม    เขาจนแล้วเขาไม่มีสิทธิ์มีบ้านสวยๆหรือ  เราอยากให้คนจนมีบ้านสวยๆน่าอยู่  ไม่ใช่บ้านที่มีไว้แค่ซุกหัวนอน”

การทำงานของกลุ่ม CASE นี้  ไม่ใช่การออกแบบตามใจฉัน แล้วชี้นิ้วสั่งว่าต้องเปลี่ยนอย่างนั้นอย่างนี้    แต่คือการทำงานที่ต้องคิดและการวางแผนร่วมกันกับชาวบ้านในชุมชน

“เริ่มจากเข้าไปนั่งคุยกันกับชาวบ้านว่าปัญหามันคืออะไร    ถ้าอย่างเราซึ่งเป็นคนภายนอกมอง ก็จะรู้สึกว่าอย่างนี้คงต้องสร้างใหม่ทั้งหมด   แต่ชาวบ้านบอกไม่ใช่  ตัวบ้านไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาคือน้ำท่วม น้ำไม่มีจะใช้  ไฟไหม้   การเข้าถึงลำบาก   เมื่อเราเข้าใจปัญหาก็จะเริ่มให้ชาวบ้านช่วยกันทำแผนที่ชุมชนขึ้นมา ”

และจุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานของกลุ่ม case  ก็คือการฝึกให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการทำงาน   ตั้งแต่กระบวนการศึกษาปัญหา  การสร้างแผนที่  รวมไปถึงขั้นตอนในการเขียนโครงการ

“กระบวนการมันแน่นมากขนาดที่ว่า ถามชาวบ้านคนไหนก็ได้ใน 92 หลังนี้  รู้หมด   ว่าในชุมชนนี้มีบ้านกี่หลัง  มีเด็กกี่คน มีผู้ใหญ่กี่คน  อธิบายผังได้หมด   และเมื่อไปนำเสนอของบประมาณกับทางจังหวัด   ก็ให้ชาวบ้านไปอธิบายด้วยตัวเอง   มีรองผู้ว่ามาฟัง   เขาก็ประทับใจมากตรงที่ว่า เขาไม่เคยเห็นชาวบ้านแบบนุ่งผ้าถุงจบ ป.2 มาอธิบายให้ฟังได้ ว่าโครงการนี้คืออะไร   เมื่อถามชาวบ้านคนไหน ก็ตอบได้หมด    ทางจังหวัดก็เลยให้งบประมาณมาทำ”

“แล้วที่เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจก็คือ  มันทำให้ชาวบ้านในชุมชนอื่นๆ ที่อยู่บนคลองเส้นเดียวกันเกิดความสงสัยว่าทำไมชุมชนนี้ทำได้   ก็ทำให้เกิดการคุยกัน   เกิดการสอนต่อ    สุดท้ายก็เลยได้ปรับปรุงทั้งคลอง  และก็เลยเริ่มมีการบอกต่อว่า มันมีสถาปนิกที่ทำงานแบบนี้   เราก็จะไปสู่ชุมชนอื่นๆต่อไป”

สิ่งที่ชุมชนได้จากสถาปนิกกลุ่มนี้  มันจึงไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง  แค่ตัวบ้านที่สวยงาม

แต่มันคือความร่วมมือกันของชุมชนที่เพิ่มขึ้นมา

“การทำงานของเรา มีหลักว่า สิ่งที่จะทำ  ต้องเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการ  ถ้าเขาไม่อยากให้สร้าง เราก็จะไม่ทำ   อย่างเช่นที่ชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์  เราก็ไปสร้างห้องซ้อมเต้น ห้องสมุด รวมไปถึงสระว่ายน้ำให้  เพราะมันเป็นสิ่งที่เด็กๆในชุมชนบอกว่าเขาต้องการ    อย่างเช่นสระว่ายน้ำ ตอนแรกที่เด็กบอกอยากได้  เราก็คิดว่าจะเป็นไปได้ยังไง  พื้นที่มีแค่นี้   แต่พอให้เด็กลองบอกขนาดสระที่ต้องการ   เราถึงพบว่า ที่จริงเขาต้องการเล็กนิดเดียวเอง  ก็เลยสร้างได้”

และจากความร่วมแรงร่วมใจกันในการก่อสร้าง โดยไม่ต้องจ้างแรงงานที่ไหน  แต่อาศัยทั้งสถาปนิก เด็กฝึกงาน รวมทั้งชาวบ้านมาลงแรงช่วยกัน   สระว่ายน้ำ ห้องซ้อมเต้น และห้องสมุดที่เคยเป็นแค่ความฝัน  ก็ได้กลายเป็นความจริง

อาจจะไม่ได้รับค่าตอบแทนมากมายเท่ากับการสร้างบ้านหลังใหญ่   แต่ภาพรอยยิ้มของเด็กๆที่กำลังยักย้ายส่ายสะโพกอยู่ในห้องซ้อมเต้นที่ตลอดชีวิตพวกเขาไม่เคยมี   ภาพของเด็กๆที่กำลังสนุกสนานอยู่ในสระน้ำ แทนการกระโดดน้ำคลองที่สกปรก   คือรางวัลชิ้นสำคัญ  ที่เป็นคำตอบว่า งานที่ทำนั้นมันมีคุณค่าเพียงใด

มีใครบางคนบอกไว้ว่า สถาปนิก มีรากศัพท์มาจากคำว่า สถาปนา  ซึ่งแปลว่า ผู้สร้าง

สิ่งที่สถาปนิกกลุ่มนี้ทำ  จึงไม่ใช่เพียงแค่สร้างสิ่งปลูกสร้างที่สวยงาม

แต่หมายถึงการสร้างโอกาส แห่งการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ที่มาข้อมูล

นิตยสาร ฅ คน ฉบับที่ 53  ( มีนาคม 2553)  

 รายการเจาะใจ  วันที่ 21 พ.ค. 53  

http://deck-case.blogspot.com/2010/06/210510.html