03 นักธุรกิจ — ที่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ผลกำไร

ธุรกิจ

— เมื่อเป้าหมายไม่ใช่ผลกำไร  แต่คือการช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทยลดลง  —

ภาพขอทานริมถนน อาจเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับชาวกรุงทุกคน

แน่นอนว่า คงไม่มีใครรู้สึกดีกับภาพที่เห็น   แต่หลายๆคนก็คงไม่รู้จะช่วยอย่างไร

บางคนมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ไข    แต่บางคนกลับไม่มองอย่างนั้น

เพราะสำหรับคนบางคนแล้ว  การทำธุรกิจกับการช่วยลดจำนวนขอทาน….อาจเป็นเรื่องเดียวกัน

…..

เรากำลังพูดถึงนิตยสารเล่มหนึ่ง ที่มีชื่อว่า BE Magazine กันอยู่

นิตยสารที่เขาประกาศตนเองว่าเป็นนิตยสารเพื่อสังคมเล่มแรกของเมืองไทย

ไม่ใช่ด้วยเนื้อหาในนิตยสาร , แต่ด้วยวิธีการในการขาย

แน่นอนว่าไม่ใช่การวางแผงขายธรรมดาอย่างนิตยสารทั่วๆไป  แต่คือการเปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาสที่กำลังตกงานหรือผู้พิการที่หางานทำไม่ได้ทั้งหลาย เข้ามารับนิตยสาร BE ไปขายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีทุนเริ่มต้น

หากคุณประสบภาวะยากลำบากจริง เพียงแค่ติดต่อเข้าไปที่บริษัท   ก็จะได้รับนิตยสาร BE มาฟรีๆจำนวน 30 เล่ม เพื่อให้นำไปขาย    ขายตามราคาปก 45 บาท  ซึ่งหากขายหมด  ก็จะได้เงินเข้ากระเป๋ามาเหนาะๆแล้วถึง1350 บาท

และเมื่อมีทุนตั้งต้นแล้ว   ก็ค่อยมาซื้อ BE ไปขาย   ซึ่งสำหรับผู้ด้อยโอกาส ทางนิตยสารก็จะขายให้ในราคา 25 บาท  และให้พวกเขาไปขายต่อในราคา 45 บาทตามราคาปก    ซึ่งกำไรเล่มละ 20 บาทที่ขายได้นั้น ก็เป็นของคนขายนั้นไปเต็มๆ

“ผมดีใจที่ได้เข้ามาที่ BE Magazine  การขายนิตยสารช่วยผมได้มาก ช่วยให้มีรายได้เยอะ พอเข้ามาที่นี่ก็รู้สึกอบอุ่น เงินที่ได้จากการขายผมเอามาให้แม่หมดเลย เพราะว่าแม่ต้องจ่ายเป็นค่ากับข้าว แล้วก็เก็บเป็นทุนมารับนิตยสารครั้งต่อไป ผมใช้เงินไม่มาก พอขายนิตยสารมันดีกว่าเมื่อก่อนที่ไม่มีเงินมาใช้เลย ผมไม่รู้สึกท้อแล้ว ผมคิดว่าจะสู้ต่อ   ถ้าผมทำงาน ผมจะได้มีใช้ ไม่ต้องอดอีกต่อไป”

น้องเจน หนึ่งในผู้ด้อยโอกาสที่มาเป็นตัวแทนจำหน่าย BE ว่าไว้

ในวัยเพียง 19 ปี  น้องเจนไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเพราะมีปัญหาด้านการเงิน   จึงจำเป็นต้องไปหางานทำ  แต่ด้วยสุขภาพที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ไม่สามารถทำงานที่ใช้แรงหนักๆได้  ไปสมัครงานที่ไหนจึงไม่มีใครรับ   บางครั้งก็ต้องอดมื้อกินมื้อเพื่อประทังค่าใช้จ่าย   แต่วันหนึ่งรายการตลาดสดสนามเป้าก็ได้พาให้น้องเจนรู้จักกับนิตยสาร BE

แล้วชีวิตที่ต้องอดมื้อกินมื้อของเขาก็หมดไป

หากพูดถึงช่องทางการจำหน่ายนิตยสาร    60% จะจำหน่ายผ่านทางผู้ด้อยโอกาสที่มารับไปขาย  ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะขายตามสถานีรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินในช่วงเวลาเลิกงาน    อีก 15% วางแผงอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไป  และ25% สุดท้ายก็มาจากการสมัครสมาชิกนั่นเอง    ซึ่งรายได้จากการสมัครสมาชิกนี้เองที่เป็นเงินที่ช่วยหมุนนิตยสารให้ดำเนินต่อไป

“เราไม่ได้ทำแค่นิตยสาร แต่เรากำลังทำสังคมไปด้วย”

นั่นคือคำพูดของอารันดร์  อาชาพิลาส ผู้ก่อตั้งนิตยสาร BE ที่มีอายุแค่เพียง 23 ปีเท่านั้น

“ผมอยากให้นิตยสารเล่มนี้ เป็นโอกาสให้คนไทยช่วยเหลือกันและกันได้ง่ายขึ้น   และอยากให้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมนี้ เกิดการแพร่หลายในเมืองไทย  ให้ธุรกิจในสังคมได้กล้าลุกขึ้นมาทำความดี ดูเเลเกื้อกูลคนในสังคมด้วยอาชีพของคุณ  ผมอยากจะบอกกับทุกคน โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจว่า ลองถอยหนึ่งก้าว แล้วมองดูว่าถ้ากำไรสูงสุดของคุณไม่ใช่เป้าหมายหลัก คุณจะเห็นว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ในมือของคุณ เป็นสิ่งที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมได้มากมายมหาศาล”

“ผมไม่ได้ขายแค่หนังสือ  แต่ผมขายความช่วยเหลือ ที่มีหนังสือแถมมาด้วย  โดยใช้ธุรกิจเข้ามาแก้ปัญหา เพราะระบบธุรกิจมันทำให้ยั่งยืนได้”

จุดเริ่มต้นแห่งแรงบันดาลใจของเขา  มาจากคำถามเล็กๆที่เขาถามตัวเอง หลังจากได้เห็นโครงการในพระราชดำริ

ยิ่งศึกษาลึกซึ้ง  ผมก็รู้สึกว่าในหลวงท่านสุดยอด  ทำให้เราหันมองกลับมาที่ตัวเองว่า  แล้วเราล่ะทำอะไรอยู่”

คำว่า เรากำลังทำอะไรอยู่สั้นๆ  นำไปสู่ความคิดที่ถัดจากนั้นคือ เราจะทำอะไรได้บ้าง

และจุดนั้นเอง ที่ทำให้เขาเริ่มนึกถึงสิ่งที่ได้เดินผ่านอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันตลอดสามปีในการเรียนที่อังกฤษ  นั่นก็คือนิตยสาร Big Issue ที่ขายอยู่หน้ามหาวิทยาลัย    ซึ่งเป็นนิตยสารที่ผลิตออกมาเพื่อให้คนที่ไม่มีบ้านอยู่หรือคนที่ลี้ภัยสงครามได้นำไปขายเพื่อหาเลี้ยงชีพโดยแบ่งกำไรให้เกือบครึ่ง

“เราเห็นนิตยสารนั้น ก็กลับมามองตนเองว่า แล้วเราล่ะทำอะไรอยู่  เรามีโอกาสตั้งเยอะแล้ว เราจะเอากลับมาแค่ใบปริญญาเหรอ  หรือเราจะมองหาอะไรดีๆแล้วเอากลับมา   อย่างไอเดียของ big issueนี้ เราก็เห็นมาแล้วสามปี  ทำไมเราไม่เอามาปรับใช้กับเมืองไทย”

เมื่อคิดได้ดังนั้น เขาจึงไม่รอช้า และจัดการส่งอีเมลไปถามทางนิตยสาร big issueว่า ถ้าเขาจะไช้แนวคิดนี้ไปปรับใช้ที่ประเทศไทยจะติดลิขสิทธิ์อะไรไหม   ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็คือ สามารถนำไปใช้ได้ ไม่มีปัญหา

หลังจากที่อารันดร์กลับมาจากอังกฤษ  เขาจึงเริ่มต้นคิดที่จะนำไอเดียนั้นมาทำให้เกิดขึ้นจริง   แม้ว่าเขาจะอายุเพียง 23 ปี และใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษมานานกว่าสิบปีจนไม่เชี่ยวชาญภาษาไทย  แต่ปัญหาต่างๆเหล่านั้นก็นับว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความตั้งใจที่มี     เขาจึงพยายามรวบรวมทีมงาน เพื่อก่อตั้งนิตยสารที่ใฝ่ฝันให้เกิดขึ้น

และเขาก็ทำสำเร็จ

จากจุดเล็กๆแห่งการตั้งคำถามกับชีวิตที่ว่า “แล้วเราล่ะ…ทำอะไรอยู่” ของเด็กหนุ่มนามว่าอารันดร์  ได้นำไปสู่การลงมือทำที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตคนให้ดีขึ้นได้

ไม่ใช่แค่คนๆเดียว …  แต่คือคนมากมายที่เขาได้ช่วยให้มีรายได้โดยไม่ต้องกลายเป็นขอทาน

หากความคุ้มค่าในความหมายของนักธุรกิจทั่วไป อยู่ที่ตัวเลขผลกำไร

แต่สำหรับอารันดร์แล้ว  เขาบอกว่า

                “แค่ทำให้ครอบครัวๆ หนึ่งไม่ต้องไปก่ออาชญากรรม มันก็คุ้ม”

ที่มาข้อมูล         

รายการSMEตีแตก   , http://www.think-be.com,  http://www.oknation.net  , http://www.nationejobs.com 

ใส่ความเห็น