08 สื่อสารมวลชน (1) –ผู้สร้างต้นแบบแห่งความดี

สื่อสารมวลชน (1)

—  ผู้สร้างต้นแบบแห่งความดี 

รายการทีวีรายการหนึ่ง แหวกกฎทุกกฎของการทำรายการที่สร้างเรตติ้ง กล่าวคือ ไม่สนใจคนหน้าตาดี  ไม่ได้สนใจคนที่มีชื่อเสียง  ไม่ได้สนใจคนที่กำลังตกเป็นข่าว

แต่กลับสนใจคนเล็กๆธรรมดาๆ ที่มีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ความดี

“ตลอดเวลา 7-8 ปีที่ทำคนค้นฅน ผมได้เห็นผู้คนที่ทำความดีมากมาย  เป็นการทำดีจากหัวใจ  บางคนทำมาอย่างสม่ำเสมอยาวนานเป็นสิบปี ทำโดยที่ไม่ได้ใส่ใจว่าจะต้องเป็นที่จับจ้องสนใจจากผู้คนในสังคม   พวกเขาไม่ได้ถูกสปอตไลต์ไปจับ  หลายคนแทบไม่มีใครรู้จัก  พูดง่ายๆว่าเป็น nobody เกือบทั้งหมด  ซึ่งเราก็คิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้คนเหล่านี้เป็น somebody ได้บ้าง  เพราะจริงๆแล้วทุกคนสามารถเป็นแบบอย่างให้สังคมเราได้เลย  “

สุทธิพงษ์  ธรรมวุฒิ  ผู้ก่อตั้งรายการคนค้นฅนกล่าวไว้ในพิธีมอบรางวัลคนค้นฅนอวอร์ดครั้งที่1

ตลอดเก้าปีที่ผ่านมา บุคคลที่ปรากฏในรายการนี้มีแทบทุกอาชีพ ตั้งแต่หมอ,พยาบาล,ตำรวจ,ทหาร,ครู,พระ,ชาวนา,กระเป๋ารถเมล์,ภารโรง รวมไปถึงคนพิการที่ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต

“ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันคือการบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคม   เราได้บันทึกเรื่องของคนดี คนที่มีคุณค่า คนที่มีความหมายต่อสังคมเอาไว้    ซึ่งเมื่อวันหนึ่งอาจมีคนหยิบยกมาพูดถึงมาเป็นตำราเรียน   อย่างน้อยตรงนี้คุณค่าก็เกิดขึ้น”

ภาคภูมิ  ประทุมเจริญ หรือโตโต้  พิธีกรรายการคนค้นฅน บอกถึงความหมายของการทำงานตรงนี้

“ทุกครั้งที่ได้หยิบยกเรื่องราวขึ้นมา  แล้วมีคนดูสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่งที่ดูแล้วได้คิดตาม ได้กลับมามองตัวเอง   ได้เอาเรื่องราวมาเปรียบเทียบกับตัวเอง  มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต แค่นั้นผมก็มีความสุขแล้ว”

แม้ว่าบางครั้ง การทำงานอาจถึงขั้นเสี่ยงชีวิต เช่นการไปถ่ายทำเรื่องของดาบแชนและทีมกู้ระเบิดแห่งจังหวัดนราธิวาส     ซึ่งทีมงานทั้งหมดต้องลงพื้นที่จริงพร้อมกับหน่วยเก็บกู้ โดยไม่รู้ว่าระเบิดเหล่านั้นจะระเบิดขึ้นมาเมื่อใด

“สิ่งที่ผมทำ ผมไม่คิดว่ามันเป็นงาน    ถ้าเราคิดว่ามันเป็นงาน  เราก็จะบวกลบคูณหารว่ามันคุ้มค่ากับเงินเดือนมั้ย คุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้ทำหรือเปล่า   ถ้าเกิดอะไรขึ้นมามันจะคุ้มหรือเปล่า    แต่ผมรู้สึกว่ามันคือชีวิต มันคือการได้ทำสิ่งดีๆให้กับสังคม  ผมเองก็เรียนจบที่มอ.ปัตตานีมา เรียกได้ว่าเป็นเด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คนหนึ่ง  ซึ่งเราก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรที่เป็นการตอบแทนพื้นที่สามจังหวัดนี้   เป็นการตอบแทนผู้มีพระคุณ  เราก็เลยเลือกที่จะไปหยิบยก  เราได้ไปงัดเอามุมที่คนเขาไม่สนใจออกมา   อย่างข่าวคราวเรื่องระเบิดมีให้เห็นทุกวัน   แต่ภาพของคนที่กู้ระเบิด ออกให้เห็นไม่ถึงเสี้ยววินาที  เราเลยอยากเอาเรื่องราวของเขามาบอก”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงยอมเดินผ่านความเสี่ยง  เพื่อที่จะดึงเขาออกมา  เพื่อที่จะบอกกับเขาว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันมีคุณค่าต่อแผ่นดินมาก   สิ่งที่คุณทำอยู่มันมีความหมายมาก”

เคยมีตำรวจในพื้นที่ถามทีมงานว่า เหตุใดถึงกล้าเสี่ยงประกบติดการทำงานถึงเพียงนี้   คำตอบที่ได้รับจากทีมงานคนหนึ่งคือ  “ไม่อยากให้ชีวิตของผู้กล้า ผู้เสียสละเพื่อแผ่นดินคนหนึ่ง  ปรากฏเพียงแค่เรื่องเล่าหรือเป็นแค่บทความประกาศเกียรติคุณ ที่คนทั้งประเทศต้องหลับตาจินตนาการถึง”

บางทีสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่  อาจไม่ใช่แค่รายการทีวีแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงแล้วจบไป  แต่คือการยกย่องเชิดชูคนที่ทำดี เพื่อให้เขามีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป และที่สำคัญคือเพื่อให้ทองที่เคยปิดอยู่ที่หลังพระ ได้ถูกมองเห็นและปรากฏเป็นแบบอย่างแก่สังคม

ความสุขในการทำงานของพี่โตโต้  ไม่ได้อยู่ที่ความสบายหรือตัวเลขค่าตอบแทนใดๆ แต่มันคือความอิ่มเอมบางอย่างที่เกิดขึ้นในจิตใจ

“ผมมีความสุขมากที่ได้มาทำงานตรงนี้  ได้ทำในสิ่งที่เรารักและศรัทธา  ได้เติมเต็มความรู้ เติมเต็มความคิด เติมเต็มความเชื่อของเรา    ได้รู้สึกว่าอย่างน้อยที่สุดเราเป็นกงจักรตัวนึงของสื่อเล็กๆที่ยังทำงานรับใช้สังคม”

แม้ว่าเรตติ้งของรายการประเภทนี้จะไม่ดีเท่ากับพวกละครน้ำเน่า  แต่เขาก็ยังยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่เชื่อ

“ก็เป็นธรรมดาของสังคม ที่คนชอบกินอะไรง่ายๆ   แต่ถ้าทุกสื่อเอนไปทางด้านนั้นหมด  แล้วเราก็เอียงไปทางด้านนั้นด้วย  แล้วสื่อที่รับใช้สังคมล่ะ  จะมีเหลืออยู่กี่สื่อ   ด้วยเหตุนี้เราถึงต้องยืดหยัดในความเชื่อของเรา  ในการผลิตสื่อเพื่อเชิดชูคนที่ทำงานเพื่อสังคม  ไม่ใช่สื่อที่มอมเมาสังคม   นี่จึงเป็นเหตุผลที่บอกกับตัวเองว่า  ให้เราทำต่อไปเถอะ”

มีคำพูดหนึ่งว่ากันว่า หากใครมีสื่ออยู่ในมือ คนนั้นก็สามารถเนรมิตอะไรต่างๆได้

บางที ถ้าเราอยากให้สังคมเป็นแบบไหน  อยากให้คนในสังคมคิดอย่างไร เชื่ออย่างไร

ก็แค่สร้างสื่อแบบนั้นเยอะๆ

“สื่อแบบไหนที่เหมาะกับสังคม  ก็ต้องดูว่าคนแบบไหนที่เหมาะกับสังคม   คนแบบไหนที่มีคุณค่าต่อสังคม   สื่อก็ควรเป็นเช่นนั้น”

พี่โตโต้ทิ้งท้ายเอาไว้เช่นนั้น

——————————

“ขณะที่ความสำเร็จของบริษัทมหาชนคือ มีรายการเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี  มีโฆษณาเต็มทุกรายการเท่าไหร่ยิ่งดี   โดยที่เนื้อหารายการจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากันอีกที  ซึ่งผมไม่คิดแบบนั้น  ผมไม่เห็นด้วย    สิ่งที่สื่อควรจะทำโดยเฉพาะสื่อทีวี ถึงแม้จะเป็นธุรกิจการขายเอากำไร  คำตอบก็คือเราควรจะขายบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์

“ในชีวิตประจำวันเราต้องกินอาหารหลากหลาย  ข้าว แกง ผัก ผลไม้ เหล้า เบียร์    โอเค ใครจะขายอะไรก็ขายไป  แต่ก็น่าจะมีใครสักคนเปิดร้านอาหารปลอดสารพิษบ้าง  ถ้าตอบตัวเอง ผมคิดว่าเรากำลังตั้งใจทำสิ่งนั้น”

–  สุทธิพงษ์   ธรรมวุฒิ  (ผู้ก่อตั้งบริษัททีวีบูรพา) –

——————————————

ขอขอบคุณ 

พี่โตโต้- ภาคภูมิ ประทุมเจริญ สำหรับการให้สัมภาษณ์ 

และข้อมูลประกอบเพิ่มเติมบางส่วนจากนิตยสาร ฅ คน ฉบับ 49  (พฤศจิกายน 2552)

 และวารสาร ฅนคอเดียวกัน ฉบับที่ 22 (ตุลาคม 2553)

ใส่ความเห็น